Skip to content

IEEE802.3AT (HIGH POWER POE)

จุดประกายโดย: Wuti Kinghirunwatana

PoE คืออะไร

PoE (Power over Ethernet) เป็นเทคโนโลยีสำหรับการจ่ายไฟบนสาย LAN แทนการกินไฟจากการเสียบ adapter ไปยังอุปกรณ์เครือข่าย เช่น โทรศัพท์ IP, Access Point และกล้องรักษาความปลอดภัย IP ทำให้ไม่ต้องเดินสายไฟไปยังอุปกรณ์ที่ต้องกินไฟเหล่านั้น                          

มาตรฐาน IEEE802.3at : Hi-Power มาตรฐานใหม่

โดยปรกติแล้ว อุปกรณ์ตามมาตรฐาน IEEE802.3af จะกินไฟสูงสุดไม่เกิน 15.4 W (วัตต์) สำหรับ PD (Power Device) และฝั่ง PSE (Power Sourcing Equipment) หรือผู้จ่ายไฟ ก็สามารถจะจ่ายไฟได้ 15.4 W ด้วยเช่นกัน แต่สำหรับมาตรฐาน IEEE802.3at จะจ่ายไฟได้มากถึง 50W ซึ่งแน่นอนว่า PD ของ IEEE802.3at ก็สามารถจะกินไฟมากกว่า 15.4W ด้วยเช่นกัน            

แม้ว่าอุปกรณ์จำนวนมากให้ความสนใจหันมากินไฟบนสาย LAN (แทนการเสียบ Adaptor) แต่อุปกรณ์หลายตัวนั้นก็กินไฟเกินกว่า 15.4W เช่น กล้อง IP-Cam, สายโทรศัพท์, AP แบบ Wireless 11n เมื่อมาตรฐาน IEEE 802.3at ซึ่งจ่ายไฟได้มากขึ้น ย่อมช่วยให้ฝันของอุปกรณ์เหล่านั้นเป็นจริงขึ้นมาได้ โดยต่อไปนี้ PoE จะสามารถรองรับอุปกรณ์ได้หลากหลายขึ้น จนไม่แน่ว่า…เราอาจมีเครื่องสแกนลายนิ้วมือทั้งเครื่องที่เป็นแบบ PoE ก็ได้ หรือเราอาจมีเครื่องพิมพ์แบบ Network Printer เครื่องเล็กๆ สักเครื่อง ที่สามารถกินไฟจาก PoE ได้ทันที                

เนื่องจากมาตรฐาน IEEE802.3af ออกแบบมาให้สามารถทำงานบนสาย LAN แบบ CAT.3 ซึ่งเป็นสายทองแดงที่มีขนาดเล็ก สามารถรับกำลังไฟสูงสุดได้ไม่มาก กำลังไฟฟ้า 15.4W จึงถูกจำกัดไว้เพื่อให้ IEEE802.3af สามารถทำงานบนสาย LAN แบบ CAT.3 ได้นั่นเอง แต่สำหรับ IEEE802.3at ออกแบบมาให้ทำงานกับสาย CAT.5 ขึ้นไป ซึ่งทองแดงมีขนาดโตกว่า (เส้นผ่าศูนย์กลางใหญ่กว่า) รองรับการส่งกำลังไฟได้มากกว่า IEEE802.3at จึงจ่ายไฟได้มากขึ้น ด้วยสาย CAT.5 หรือสาย CAT. ที่ดีกว่านั้น  

การเชื่อมต่อระหว่าง IEEE802.3at และ IEEE802.3af

กรณี 1 หากนำอุปกรณ์ที่เป็น PD แบบ IEEE 802.3af สามารถเสียบบนพอร์ตของ PSE แบบ IEEE802.3at โดยไม่มีปัญหาและไม่ทำให้เกิดความเสียหายจนอุปกรณ์ไหม้จากการจ่ายไฟเกิน เพราะออกแบบมาให้มี Backward Compatible ซึ่งทำงานร่วมกันกับ PSE แบบ IEEE802.3at ได้ แต่จะจำกัดพลังงานอยู่ที่ 15.4W โดยอัตโนมัติ            
ในทำนองเดียวกัน อุปกรณ์ที่เป็น PD แบบ IEEE802.3af เมื่อมาเสียบกับพอร์ตของ PSE แบบ IEEE802.3at ก็จะไม่สามารถดึงพลังไฟได้เต็มที่หรือได้ประโยชน์เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับการเสียบกับพอร์ตแบบ IEEE802.3af เพราะ PD แบบ IEEE802.3af กินไฟสูงสุดที่ 15.4W อยู่แล้ว แม้จะเอามาเสียบกับ IEEE802.3at มันก็ยังคงกินไฟน้อยกว่า 15.4W ตามมาตรฐาน IEEE802.3af อยู่ดี ฉะนั้นจึงไม่มีประโยชน์อะไรเป็นพิเศษกับการนำมาเสียบบนพอร์ต IEEE802.3at            

กรณี 2 ถ้านำ PoE Splitter แบบ IEEE802.3af เสียบเข้ากับพอร์ต PSE ที่เป็น IEEE802.3at ก็ยังคงทำงานด้วย 802.3af เหมือนเดิม สรุปความว่า Splitter จะกินไฟสูงสุดและจ่ายไฟได้มากสุดก็คือ 15.4W เหมือนเดิมตามมาตรฐาน 802.3af ที่ถูกออกแบบมา

กรณี 3 ถ้าเอา PD ที่เป็น IEEE802.3at ไปเสียบกับ PSE ที่เป็น IEEE802.3af นั้น ยังไม่มีข้อมูลยืนยันแน่ชัด แต่เชื่อได้ว่า PD แบบ IEEE 802.3at น่าจะตรวจสอบกับ PSE และถ้าพบว่า PSE ไม่สามารถจ่ายไฟในระดับ IEEE 802.3at ได้ PD นั้นก็จะไม่เรียกร้องพลังงานจาก PSE หรือพูดง่าย ๆ ว่าเสียบไปไฟก็ไม่ขึ้น

กรณี 4 เมื่อเสียบกับอุปกรณ์ที่สนับสนุนมาตรฐาน 802.3at ด้วยกันเท่านั้น PSE และ PD แบบ 802.3at สามารถจะ “คุยกัน” ด้วยวิธีที่มาตรฐาน 802.3at กำหนด และเมื่ออุปกรณ์ทั้ง 2 ฝั่งรับรู้กันแล้วว่า แต่ละฝ่ายทำงานแบบ 802.3at ได้ การกินไฟเกิน 15.4W ก็จะเริ่มขึ้นได้  

จ่ายไฟมากขึ้น กินไฟมากขึ้น อันตรายมากขึ้น?


สาย LAN จะรับภาระของกระแสไฟฟ้ามากขึ้น จนอาจทำให้สาย LAN มีอุณหภูมิสูงขึ้น

ที่รอยต่อของหัวต่อ RJ-45 จะมีกระแสไหลผ่านมากขึ้น อาจเกิดประกายไฟได้เล็กน้อย

อุปกรณ์ PSE คงมีขนาดใหญ่ขึ้น โดยเฉพาะส่วนที่เป็น Power Supply

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ทั้งหมดนี้ จะยังไม่เป็นอันตราย ตราบเท่าที่เราเลือกใช้อุปกรณ์ที่มีมาตรฐาน เช่น สาย LAN ที่ได้มาตรฐาน, RJ-45 modular jack และ UTP outlet หรือ Patch panel ที่มีมาตรฐาน

 

SHARE TO:

Share on facebook
Facebook
Share on twitter
Twitter
Share on linkedin
LinkedIn
Share on email
Email