Skip to content

คนไอที ต้องพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์มากแค่ไหน

ระบบล่มเพราะหนูกัดสายไฟเบอร์

ออกเน็ตไม่ได้เพราะไฟไหม้อาคารถนนถัดไป ลามไปหาสายไฟเบอร์ของ ISP ที่เราใช้บริการอยู่

เฟิร์มแวร์มีบั๊ก ใครจะไปรู้ล่วงหน้า

2 ปีมีตั้งหลายวัน ทำไมบอร์ดของเซิร์ฟเวอร์มันต้องมาเลือกพังเอาวันนี้

เดี๋ยวกล้องนู้นดับ เดี๋ยวกล้องนี้มีปัญหา ส่งงานไม่ได้ซะที เตรียมพวงมาลัย จุดธูปไหว้เจ้าที่ทีเดียว ทุกอย่างทำงานปกติ ส่งงานฉลุย

เรื่องซวย ๆ ที่ผมยกตัวอย่าง ที่บางคนอาจเคยเจอกับตัว บางคนไม่เคยเจอปัญหาเหล่านี้เลย บางคนอาจจะนึกในใจว่า มันไม่เกี่ยวกับดวงหรอก มันเรื่องป้องกันได้ทั้งนั้น บางคนอาจจะบอกว่า ไม่เชื่ออย่าลบหลู่ เรื่องแบบนี้ต้องเจอกับตัวเอง ไอทีกับเรื่องดวง เกี่ยวกันมั้ย มาดูกันครับ

เริ่มแรกก่อนคือ คนที่มีปัญหา และหาคำตอบไม่ได้ ไม่มีทางออก คือคนที่เครียดนะครับ ซึ่งพอเครียด งานก็ไม่ดี ไม่เหมือนคนที่สบายใจ ตั้งสติทำงานได้ดีกว่า พอใจไม่ว้าวุ่น สติก็ค่อย ๆ มา บางคนก็ตั้งสติได้โดยไม่ต้องพึ่งพาอะไร บางคนใช้กาแฟเป็นเครื่องสงบจิตใจ จึงไม่แปลกอะไรที่คนไทยอย่างเราจะใช้ธูปเทียนและการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทำให้เราสงบใจจากปัญหาที่แก้ไม่ตก เครื่องเซ่นไหว้อย่างน้ำแดงซักขวด ก็ทำให้ความมั่นใจเพิ่มขึ้นว่า ตัวช่วยมาแล้ว ผมจึงเห็นดีในแง่นี้ ถ้าเราทำอะไรแล้วคิดว่าจิตใจเราสงบ แม้จะอธิบายไม่ได้ว่า สัญญาณไฟฟ้าหรือซอฟต์แวร์มันจะดีขึ้นได้อย่างไร ก็ทำไปเถอะครับ

ซึ่งที่ผ่านมา ผมก็ยังไม่เคยเห็นทีมเดินสาย LAN ที่เดินทางมาหน้างานพร้อมคณะนางรำ แล้วตรงดิ่งไปที่ศาลพระภูมิหน้าออฟฟิศก่อนจะเริ่มงาน ผมยังไม่เคยเห็นพิธีบวงสรวงใหญ่โตก่อนเปิด Data center แปลว่าเท่าที่ทำ ๆ กันอยู่ในวงการไอที ผมว่าก็พองามแล้ว โยงสายสิญจน์ เจิมหน้าห้อง หรือใครอัญเชิญพระไปวางเหนือตู้ Rack ถ้าสบายใจก็ทำไปเถอะครับ มองรอบตัวหน่อยละกัน คนเข้าใจก็มี คนไม่เข้าใจก็เยอะ

ความสบายใจคือผลตอบแทนที่หวังผลได้ แต่การไปหวังผลลัพธ์อัศจรรย์ด้านอื่น อาจจะเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรคิดดี ๆ ก่อนการตัดสินใจลงทุน ผลตอบแทนอาจเป็นศูนย์ แม้ท่านจะได้ทุนคืนเป็นน้ำแดงไม่ดูดเล่นซะหนึ่งขวดก็ตาม

ถัดมาที่น่าคิด ผมขอหยิบคำฝรั่งที่เขาพูดกันว่า Murphy’s Law ซึ่งเขาบอกว่า “ถ้ามีวิธีที่จะทำให้ความผิดพลาดเกิดขึ้นได้ มันก็จะเกิดในที่สุด” ยกตัวอย่างเช่น คุณเคยกลัดกระดุมเสื้อเชิ้ตเม็ดแรกผิดมั้ยครับ กว่าจะไปรู้ตัวก็ตอนเม็ดสุดท้ายที่ชายเสื้อมันไม่เท่ากันนั่นแหละ เกิดขึ้นไม่บ่อย แต่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ แล้วมันก็จะเกิดในที่สุด

คุณเคยเผลอบีบโฟมล้างหน้าบนแปรงสีฟันมั้ยครับ คนธรรมดาอย่างเราไม่ต้องเป็นอัลไซเมอร์ก็มีโอกาสพลาดได้ แค่เอื้อมไปหยิบผิดหลอดก็คือว่าโอกาสพลาดได้เป็นจริงแล้ว ซึ่งถ้าคิดแบบ Murphy’s Law โอกาสผิดพลาดแบบนี้จะถูกป้องกันเอาไว้ก่อน

มีโอกาสที่หนูจะมาแทะสายไฟเบอร์ของเราได้มั้ย ถ้าคิดแบบ Murphy’s Law เราจะรอบคอบขึ้น เราจะ “เคารพโอกาสที่จะเกิดความผิดพลาด” มากขึ้น เราจะเริ่มมองเห็นหัวของมัน เราจะเริ่มเห็นอนาคตว่า ตำแหน่งเดินสายแบบนั้น หนูกัด…มีโอกาสเกิดขึ้นได้ พอคิดได้แบบนี้ เราก็เลยเลือกสาย Fiber ที่มีเกราะหุ้มเป็นอลูมิเนียม หรือไม่ก็ร้อยสายไฟเบอร์ในท่อเหล็กซะเลย หรือไม่ก็เดินสายไฟเบอร์อ้อมไปอีกเส้นทางหนึ่งสำรองเอาไว้

การคิดแบบ Murphy’s Law ไม่ได้หวังผลว่าเราจะต้องลงทุนป้องกันอย่างเอาเป็นเอาตายนะครับ ไม่ใช่ทุกระบบที่จะต้องมี Backup system แต่มันเป็นแนวคิดที่ทำให้เรารู้ว่า โอกาสที่ความซวยจะมาเยือนเรามีมากแค่ไหน ในรูปแบบไหน และที่สำคัญ คนที่จะได้รับผลกระทบจากความซวยนั้น ควรจะได้รับรู้ชะตากรรมล่วงหน้าร่วมกัน ฝ่ายไอที ฝ่ายบริหาร ฝ่ายผู้ใช้ระบบ ได้รับอัพเดตล่วงหน้าว่า ระบบของเรากำลังพึ่งพาโชคมากกว่าพึ่งพามาตรการ หรือธุรกิจของเรายินดีรับ Downtime อันเกิดขึ้นจากสิ่งที่คาดการณ์เอาไว้ล่วงหน้า ถ้าร่วมหัวจมท้ายกันแบบนี้ เวลาระบบล่ม นิ้วคงไม่ชี้มาที่ฝ่ายไอทีเพียงแผนกเดียว

ความซวยที่เรารู้ล่วงหน้า ไม่เรียกว่าความซวยแล้ว ถูกมั้ยครับ จะเรียกสวย ๆ ว่า Part of the plan ยังได้เลย ไม่มีใครประสบความสำเร็จจากการทำระบบที่ไม่มีวันล่ม เพราะใช้งบประมาณบานปลายและจ่ายแพงไม่รู้จบ แต่ Murphy’s Law ทำให้เรามองเห็นโอกาสของความล้มเหลวและค่าใช้จ่ายในการป้องกัน เป็นเนื้อหาที่จะนำเสนอให้ฝ่ายบริหาร นำไปคิดต่อได้ว่า ถ้าไม่ล่มแล้วธุรกิจจะได้อะไร ธุรกิจได้เงินจากการไม่ล่ม มากกว่าที่จะจ่ายค่าป้องกันหรือเปล่า แล้วฝ่ายบริหารเขาจะเลือกรับความเสี่ยงและกำหนดงบประมาณออกมาเอง ฝ่ายไอทีก็รับงบประมาณมาทำระบบที่สามารถล่มได้ตามแผน แบบนี้ก็คือการทำความซวยให้เป็น Part of the plan โดยใช้แนวคิด Murphy’s Law ครับ

ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถมโนภาพให้เห็นความซวยในอนาคตได้ ประสบการณ์ของเราไม่เท่ากัน ความรู้ไม่เท่ากัน ถึงเวลาที่จะต้องล้างซวยสะเดาะเคราะห์ หันหน้าเข้าหาสิ่งศักดิ์สิทธิ์กันแล้วหรือเปล่า

อย่างที่ผมบอก เราบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อความสบายใจได้ แต่ท่านไม่ได้มานั่งวางระบบกับเรา ท่านไม่ใช่ Audit ใช้ท่านเป็นเครื่องยึดเหนื่ยวได้ แต่สิ่งที่เราจะพึ่งพาได้นั้น ในวงการไอทีเราพึ่งพาหลักการที่มีคนเขียนตำราเอาไว้เยอะแยะครับ Risk Management, ISO, PCI, HIPAA, COBIT, FISMA, มาตรฐานงานโยธา, มาตรฐาน Data Center, เครื่องมือในช่วยในการบริหาร Team Developer และอีกเยอะแยะมากมาย เหล่านี้ แม้จะไม่มี Audit คอยจี้ตูดหรือองค์กรของเราจะไม่มีนโยบายที่จะผลักดันให้ผ่านมาตรฐานพวกนี้ ผมแนะนำให้หยิบมาตรฐานพวกนี้มาอ่านตาม scope งานที่เรารับผิดชอบ ทำความเข้าใจ เพราะมาตรฐานพวกนี้ “เขียนมาจากการประสพพบความซวย” ของระบบในอดีต สะสมมาจนเป็นสารานุกรมของสิ่งที่ควรทำ เพื่อไม่ให้คนอื่นต้องซวยซ้ำซ้อนตามกันไปในอนาคต ไม่แตกต่างจากมาตรฐานการบินที่เขียนขึ้นมาจากความผิดพลาดในอดีตที่ค่อย ๆ ค้นพบตอนอยู่บนฟ้านั่นแหละครับ

ลองอ่านดูครับ ถ้าเราคิดออกว่า หัวข้อที่เขาให้เราทำนั้น มันถือกำเนิดมาจากความซวยหน้าตาอย่างไร แค่เราเห็นภาพก็ถือว่าเราบรรลุ และพร้อมจะรับมือกับความซวยหน้าตาแบบนั้น ภายในกรอบงบประมาณของเราแล้ว ก็วางมาตรการป้องกันกันต่อไปเท่าที่ปัจจัยของเราจะอำนวย

เรื่องความซวยในวงการไอที ป้องกันได้ ตามปัจจัยและงบประมาณของแต่ละองค์กร ตราบเท่าที่เราไม่วางใจและฝากทุกอย่างไว้กับอำนาจเหนือธรรมชาติ

สิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจไม่ให้ฟุ้งซ่าน คลายกังวล เรียกสติ สร้างกำลังใจ ให้เราทำงานได้ดีขึ้นครับ


ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเรามีพันธมิตรพร้อมให้คำปรึกษา
ติดต่อแผนก Marketing 

02-2479898 ต่อ 87

[email protected]

@optimusthailand

 

SHARE TO:

Share on facebook
Facebook
Share on twitter
Twitter
Share on linkedin
LinkedIn
Share on email
Email