Skip to content

ทฤษฎี “ใช้ไม่ได้” ในทางปฏิบัติ

ผมเป็นคนที่ทำงานด้าน Network และ Cybersecurity อย่างตรงไปตรงมาตามทฤษฎี ตั้งแต่ Design, Implementation, Integration และ Trouble shooting ซึ่งแน่นอนว่า ต้องทำงานร่วมกับหลาย ๆ ฝ่าย ผมทำงานชัดเจน อ้างอิงทฤษฎีเป็นขั้นเป็นตอน จนผู้ร่วมงานสังเกตได้ และมักบอก (เหมือนกับจะหวังดี) กับผมว่า “พี่ครับ…ทฤษฎีบางทีมันก็ใช้ไม่ได้ในทางปฏิบัตินะครับ”

มันเป็นอย่างนั้นจริง ๆ เหรอ…

ยกตัวอย่างเช่น

ตอนนี้ระบบมันล่มแล้ว ไล่ Reboot อุปกรณ์ทีละตัวเลยดีมั้ย หรือลองถอดสายเส้นที่เพิ่งเสียบดี  นั่งดู log มันจะช้านะ

หรือ

ทฤษฎีมันใช้กับโปรเจคนี้ไม่ได้ งบมันไม่พอ

หรือ

ลูกค้าเขาอยากได้แบบนี้ เขาไม่สนว่ามันเป็นไปตามทฤษฎีหรือเปล่า

คุ้น ๆ มั้ยครับ พอจะรำลึกได้หรือเปล่าว่า ประสบการณ์ของเราวันนั้น วันที่เราอยู่ในสถานการณ์ที่เราต้องเลือก ระหว่าง ทฤษฎี กับ สัญชาตญาณ วันนั้นเราเลือกอะไร

ไม่ได้แปลว่าทำตามทฤษฎีจะเป็นคำตอบที่ถูกเสมอไป และไม่ได้แปลว่า การใช้สามัญสำนึกจะเป็นเรื่องผิด สำหรับผม ผม มีทั้ง 2 แบบครับ คือทำตามทฤษฎีในหลายครั้ง ทำตามสัญชาตญาณในบางที สิ่งที่น่าสนใจคือ วิธีคิดครับ ตอนไหนควรเลือกยึดมั่นตามทฤษฎี ตอนไหนควรทิ้งทฤษฎีเอาไว้แล้วใช้วิจารณญาณ วิธีคิดนี่แหละครับที่สำคัญ

เมื่อไหร่ใช้ทฤษฎี

สมมติว่า คุณได้รับคำสั่งให้ติดตั้งเซิร์ฟเวอร์เข้าตู้ ปรากฎว่า ตู้นั้นเป็นตู้แบบตื้น แต่เซิร์ฟเวอร์ของคุณเป็นแบบที่จะต้องติดในตู้ลึก อ่ะ…ทำไงดี เดินอ้อมไปดูหลังตู้ อ้าว…เซิร์ฟเวอร์ 4 ตัวที่มีอยู่ก่อนแล้ว มันเป็นแบบยาวทั้งนั้นเลยนี่หว่า ว่ากันง่าย ๆ เซิร์ฟเวอร์ 4 ตัวตูดโผล่ยื่นออกไปหลังตู้อยู่ก่อนแล้ว มันจะมีตูดโผล่เพิ่มอีกซักตูด จะเป็นรัยปั๊ย…ไหน ๆ ฝาตู้ด้านหลังมันก็ไม่เคยปิดมาเป็นปีแล้ว

เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ทฤษฎีใช้ไม่ได้ กับระบบไม่ทำตามทฤษฎี ก็คือถ้าระบบได้เตรียมตู้ลึกเอาไว้ เราก็คงไม่ต้องเล่นนอกตำรากันแบบนี้

ย้อนไปเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ณ ตู้เดิมที่ยังไม่มีเซิร์ฟเวอร์ติดตั้งอยู่เลย เพราะมันคือตู้ B เป็นตู้ตื้นที่เอาไว้ติดตั้ง Network equipment และ Network cable ส่วนเซิร์ฟเวอร์นั้นอยู่ในตู้ A เป็นตู้ลึกที่ค่อนข้างเต็มแล้ว ตู้ A ใส่เซิร์ฟเวอร์ ตู้ B เป็น Network equipment ระบบออกแบบเอาไว้อย่างนี้

จนวันหนึ่ง มีการสั่งซื้อเซิร์ฟเวอร์ใหม่ 4 ตัวโดยที่ไม่ได้ผ่านการคิดอย่างรอบคอบ ก็เลยเพิ่งมารู้ว่า ไม่มีที่เหลือในตู้ A แล้ว ครั้นจะทำเรื่องขอซื้อตู้เพิ่ม ก็ไม่รู้ว่าจะต้องรออนุมัติกันอีกนานเท่าไหร่ อ่ะ…ตู้ B มีที่ว่าง เซิร์ฟเวอร์ใหม่ 4 ตัวก็ติดมันซะในตู้ B กลายเป็นเซิร์ฟเวอร์ตูดโผล่ ส่วนตู้ B ที่เคยปิดฝาตู้เรียบร้อย ก็กลายเป็นตู้เปิดฝาหลังตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา

เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า การออกนอกทฤษฎีในวันนี้ มันพาลทำให้คนอื่นที่มาต่องาน ต้องออกนอกทฤษฎีด้วยในวันข้างหน้า ยิ่งเดินระบบไปก็ยิ่ง Off road นอกตำรากันมากขึ้นเรื่อย ๆ เรามาดูกันต่อว่า ตู้ B จะมีอนาคตอย่างไร

แล้วเรื่องมันก็มาเกิดวันที่ไฟดับ UPS ที่เตรียมเอาไว้ เพื่อให้ตู้ B ทำงานต่อได้ 1 ชั่วโมง กลับสำรองไฟได้แค่ 10 นาทีเพราะมันดันมีเซิร์ฟเวอร์ 5 ตัวช่วยกันดูดไฟจาก UPS ไปจนเกลี้ยง เซิร์ฟเวอร์ยังไม่ทันได้ shutdown ไฟหมดซะแล้ว ไม่แตกต่างจากการกระชากปลั๊กของเซิร์ฟเวอร์ทั้ง 5 ตัวซะงั้น ส่งผลให้ OS พัง Boot ไม่ขึ้นไปซะ 1 ตัว

ส่วน Network equipment แทนที่จะทำงาน 1 ชั่วโมงก็ดับไปใน 10 นาที มาดูเซิร์ฟเวอร์ในตู้ A เขามี UPS ตามขนาดที่ออกแบบเอาไว้แต่ต้น ช่วยต่อลมหายใจออกไปอีก 1 ชั่วโมงอย่างไร้ความหมาย อ่ะ…ก็ Network equipment มัน Down ไปหมดแล้ว เซิร์ฟเวอร์มันตื่นตาสว่างอยู่คุยกับใครได้

เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า การออกนอกทฤษฎี แม้จะดูเหมือนทำงานได้ ไม่ช้าก็เร็ว มันจะส่งผลลบในทางใดทางหนึ่ง  แบบที่เรามักจะเดาไม่ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แถมบางทีความวิบัติเกิดขึ้นแล้ว ก็ยังดันวิเคราะห์ไม่ได้ด้วยว่า  สาเหตุมันมาจากการออกนอกตำราที่จุดใด เพราะมัวแต่ไปโฟกัสที่ความเสียหาย จนลืมยกทฤษฎีมาเป็นหลักในการค้นหาสาเหตุ

ปัญหาของตู้ B ถ้าคิดแก้แบบง่าย ๆ ก็แค่ซื้อ UPS ใหม่ ใหญ่กว่าเดิม มาเพิ่มให้ตู้ B นั่นคือตัวอย่างที่ดีของการโฟกัสที่ความเสียหาย โดยไม่ใช้ทฤษฎีมาวิเคราะห์หาสาเหตุ มองไปที่ UPS ว่ามันเล็กไป แต่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับทฤษฎี ที่ชี้ชัดว่า เซิร์ฟเวอร์ไม่ควรอยู่ในตู้ B ตั้งแต่ต้น

ทฤษฎีจะใช้ไม่ได้ในทางปฏิบัติ ถ้าเป็นการปฏิบัติงานกับระบบที่ไม่เคยทำตามทฤษฎีมาก่อน ความพยายามที่จะตบระบบให้เข้าตามตำราอีกครั้ง มักใช้ความพยายาม ใช้แรงงาน ใช้งบประมาณมากกว่าการเริ่มต้นอย่างถูกต้องตั้งแต่วันแรก และแม้ระบบจะทำไว้ดีถูกต้องตามทฤษฎีเพียงใด ขอให้มีแค่ครั้งเดียวที่มีคนคิดว่า “ทฤษฎีมันใช้ไม่ได้” แล้วเริ่มงัดเอา “วิธีที่ไม่มีชื่อเรียก” มาใช้ ระบบนั้นก็จะกลายเป็นครึ่งผีครึ่งคนที่ไม่มีใครรู้จัก ไม่มีใคร Follow ระบบนั้นได้ เป็นภาระกรรมให้คนต่อ ๆ ไปต้องออกนอกทฤษฎีด้วยความจนใจ จนกว่าจะมีใครใจกล้า ยอมเงินเสียเวลา รื้อระบบกลับเข้าที่ สู่ทฤษฎีที่ถูกต้องอีกครั้ง

ทฤษฎีใช้ไม่ได้ อันนั้นเรื่องนึง แต่ความไม่เข้าใจในทฤษฎี อันนั้นหนังคนละม้วน พอไม่เข้าใจก็ประยุกต์ใช้ไม่ถูกต้อง แล้วมันก็ทำให้เกิดผลในทางที่ไม่คาดหวัง พองานไม่สำเร็จอย่างที่คิด ก็ไปสร้างข้อสรุปว่า “ทฤษฎีใช้ไม่ได้ในทางปฏิบัติ” หาทางลงให้กับข้อผิดพลาด จนตัวเองหลงเชื่อไปจริง ๆ ว่า ทฤษฎีมันเป็นแค่เรื่องสวยหรูในตำราของพวกนั่งอยู่ในห้อง ไม่เคยอยู่หน้างาน คิดกันไปไกลซะแบบนั้นก็มี

ทฤษฎีไม่ใช่ข้อบังคับ แต่เป็น Guide line ให้เราสามารถหยิบไปปฏิบัติแบบไม่ต้องคิดตามก็ได้ แต่จะดีมากถ้าเราพยายามวิเคราะห์ว่า อะไรทำให้ทฤษฎีแนะนำให้เราทำแบบนั้นแบบนี้ ถ้าเราเข้าใจ เราจะไม่ต้องท่องจำอะไร เราจะไม่รู้สึกฝืน แต่เราจะปฏิบัติงานตามทฤษฎีอย่างเป็นธรรมชาติ เราจะสังเกตเห็นข้อผิดพลาดได้เร็วกว่าคนอื่น เห็นมันตั้งแต่ปัญหายังไม่เกิด และเมื่อเกิดปัญหา เราจะแก้มันได้เร็วและตรงจุด แก้แล้วปัญหาไม่เกิดซ้ำ และมีชีวิตที่สงบสุขโดยไม่ต้องลุ้นระทึกว่า จะมีเรื่องด่วนเกิดขึ้นเมื่อไหร่

ทฤษฎีใช้ไม่ได้ในทางปฏิบัติ “เฉพาะบางกรณี” เท่านั้นครับ

SHARE TO:

Share on facebook
Facebook
Share on twitter
Twitter
Share on linkedin
LinkedIn
Share on email
Email