Skip to content

Spatial stream คืออะไร ทำไมยิ่งเยอะ ยิ่งดี และ ยิ่งแพง

ตอนนี้ AP ที่มีขายในตลาด ก็ล้วนแต่เป็น 11n Dualband กันหมดแล้ว และฐานของตลาดก็จะขยับขึ้นไปเป็น 11ac wave1 ในไม่ช้า ในขณะที่หลายคนยังไม่รู้เวลาว่า สเปคของ AP ที่เขียนว่า 3×4:3 แปลว่าอะไร

บางคนอาจจะบอกว่า ก็ 3Tx คูณ 4Rx กับอีก 3 Spatial stream นั่นไง แต่ส่วนใหญ่ก็ตอบไม่ได้อยู่ดีว่า แล้ว Tx กับ Rx สัมพันธ์กันอย่างไร และ Spatial stream ช่วยอะไร…

เอาสั้น ๆ ง่าย ๆ คนทำเทคนิคเข้าใจ คนขายก็เอาไปอธิบายลูกค้าได้ ไม่ต้องลึกมาก

Tx
Tx แปลว่า จำนวนของ Transmit Radio Chain ยิ่งมีมาก ยิ่งดี แต่ละ Transmit Radio chain (วงจรวิทยุเพื่อส่งสัญญาณ) จะต้องใช้เสา 1 ต้น

RX
Rx ก็เหมือนขาส่ง แต่เป็นวงจรขารับสัญญาณ (Receive radio chain) ใช้เสา 1 ต้นในแต่ละ Receive Radio chain เหมือนกัน

Tx และ Rx จะผลัดกันใช้เสาได้ เพราะ Tx และ Rx ผลัดกันทำงาน ตอน Tx ใช้เสา Rx ก็อยู่เฉย ๆ

ดังนั้น ถ้าเราเห็น AP มีเสาแทงออกมา 4 ต้น ก็อาจจะเป็นได้ว่าเป็นแบบ 4×3 หรือ 3×4 หรือ 4×4 อย่างน้อยต้องมีเลข 4 ห้อยอยู่ตัวนึง ไม่งั้นสเปคที่เขียนก็จะขัดแย้งกับฮาร์ดแวร์ที่เห็น

Spatial stream
Spatial stream แปลว่า จำนวนชุดของข้อมูลที่ส่งออกไปพร้อมกันในอากาศ AP ที่เก่ง (และมักจะแพง) จะส่งได้หลายชุดพร้อมกัน ยิ่งส่งได้หลายชุด ก็ยิ่งดี (และยิ่งแพง) ข้อแต่ละชุดเรียกว่า แต่ละ stream

ย้ำนะครับ “ส่ง” ไม่ใช่ “รับ” ดังนั้น AP ตัวหนึ่งที่ทำ Spatial stream ได้มากกว่าอีกตัวหนึ่ง ก็แปลว่ามีสเปคในการส่งข้อมูลที่ดีกว่าเท่านั้น ส่วนจะรับได้ดีกว่ากันหรือไม่ ไม่เกี่ยวกับเลข Spatial Stream (SS)

1 Spatial stream จะต้องใช้ Tx อย่างน้อย 1 เลข เช่น 3×3:3 แบบนี้เป็นไปได้ ดังนั้น ถ้าเราเห็น AP มีเสาแทงออกมา 3 ต้น เราก็จะบอกด้วยตาได้ว่า AP ตัวนี้ มี Spatial stream ไม่เกินกว่า 3 stream แน่นอน (ถ้าสเปคเขียนมากกว่า 3 stream ก็แสดงว่า ขี้โม้)

ถ้าจะทำให้ Spatial stream ทำงานได้ดีขึ้น คือมี dB ในการส่งสูงขึ้น ก็จะใช้เทคนิค TxBF (Transmit Beamforming เข้ามาช่วยในการทำ Spatial Stream ย่อว่า SS) ดังนั้น แทนที่จะใช้ 1Tx เพื่อทำ 1SS ก็จะกลายเป็น 2Tx ต่อ 1SS แบบนี้ก็เป็นไปได้ (ไม่แน่ใจว่าจะมี Wifi chip ใช้ถึง 3Tx ในการทำ 1SS หรือเปล่า)

ดังนั้น ถ้าจะบอกว่า 4×3:3 ก็เป็นไปได้ หรือ 3×3:2แบบนี้ก็เป็นไปได้ ไม่ผิด ซึ่งพอเห็นเลขแบบนี้ (Tx มากกว่า SS) ก็รู้ได้เลยว่า AP ตัวนั้น น่าจะทำ Transmit Beamforming ได้ (ย้ำอีกครั้งนะครับ “Transmit” Beamforming ดังนั้น จะเพิ่ม dB แค่ขาส่งออกจาก AP เท่านั้น)

Transmit Beamforming บางทีก็เขียนสั้น ๆ ว่า TxBF (BF ไม่ใช่ Boy Friend หรือ Best Friend นะครับ)

ข้อที่น่าคิดอีกข้อคือ ถ้าเขาเขียนว่า 3×2:3 ก็แปลว่า AP ตัวนั้นทำงานที่ 3 Spatial stream จะไม่มีการทำ TxBF เพราะการทำ TxBF จะต้องใช้ Tx มากกว่า 1 แต่ถ้า AP นั้นจะส่งข้อมูลให้กับ Client ที่รองรับแค่ 2 Spatial Stream ก็อาจจะเป็นไปได้ที่จะมีการทำ TxBF ที่ AP เพราะมี Tx เหลือ คือ 1Tx สำหรับ Stream ที่ 1 และอีก 2Tx เอามาทำ TxBF กันสำหรับ Stream ที่ 2 ขึ้นอยู่กับสเปคของ AP (Wifi chip ที่ใช้ใน AP) นั้นว่า มีความสามารถในการทำ TxBF หรือไม่

สำหรับ R710 ที่ยกตัวอย่างมาในภาพ 4×4:4 ก็แสดงว่า AP ตัวนี้รองรับ 4 stream โดยเมื่อใช้งานที่ 4 stream ก็จะไม่มีการทำ Transmit Beamforming (เพราะไม่มี Tx เหลือ) และถ้า AP นี้ทำงานกับ Client ที่น้อยกว่า 4 stream ก็จะมีการทำ TxBF เพื่อช่วยเพิ่ม dB ให้กับ stream นั้น ๆ

และถึงแม้ว่า R710 จะทำงานที่ 4 stream และไม่มี TxBF แต่ R710 ก็ยังมี BeamFlex ที่ช่วย dB ให้กับแต่ละ stream อยู่ดี Ruckus AP ทุกรุ่นจึงเหนือกว่า AP อื่น ๆ ในตลาด ที่สามารถสร้างทิศทางได้ โดยใช้ Tx เพียงแค่ 1 ก็สร้างทิศทางเป็น Beam ได้แล้ว

AP ที่ดี จึงจะต้องมี Tx เยอะ ๆ และ Rx เยอะ ๆ และ SS เยอะ ๆ และเลข SS จะไม่มีทางมากกว่าเลข Tx

TxBF ใน 11n และ 11ac

ถามว่า – ตอบว่า
11n AP ทำ TxBF ได้ทุกตัวหรือไม่ ตอบว่า “ไม่แน่” ดูที่สเปคของ AP ตัวนั้น ๆ
11ac AP ทำ TxBF ได้ทุกตัวหรือไม่ ตอบว่า “ใช่” เพราะ TxBF เป็นข้อกำหนดของ 11ac

ถ้า Tx เยอะกว่า SS แปลว่า AP จะเอา Tx ที่เหลือมาทำ TxBF ใช่หรือไม่?

ไม่แน่ครับ การใช้ Tx หลาย chain มาส่งข้อมูลชุดเดียวกัน มีอยู่หลายวิธี หลัก ๆ เลยคือ จะเน้น “ช้าแต่ชัวร์” หรือจะเอา “แรงและเร็ว” แล้วแต่คนเขียนเฟิร์มแวร์จะให้ความสำคัญกับอะไรมากกว่ากัน ซึ่งจะเลือกแบบไหน ก็ไม่มีใครผิด ไม่มีใครถูก แล้วแต่แนวคิดของแบรนด์นั้น ๆ ไม่มีใครชนะใคร ไม่มีใครแพ้ใคร แล้วแต่เราจะเอาอะไรมาเครื่องชี้วัด

แต่จะเอา 2 อย่างพร้อมกัน มันไม่ได้นะครับ

ถ้าเอาช้า แต่ชัวร์ ข้อมูลชิ้นเดียวกัน จะถูกส่งด้วย Tx ทุก ๆ Chain (แต่ละ Tx Chain จะนำข้อมูลชุดนั้นส่งออกไปด้วยตัวเองในคนละเวลากับ Tx chain อื่น ๆ โดยแต่ละ Tx Chain ก็จะใช้ Subcarrier ของ OFDM Radio แตกต่างกัน) เพิ่มโอกาสให้ผู้รับได้ข้อมูลจากหลาย (Sub carrier) Space และ Time ที่แตกต่างกัน เรียกว่า ทำ Space Time Block Code (STBC)

ถ้าจะเอา “เร็ว-แรง” ก็จะเอาหลาย Tx นั้นมาทำงานประกอบกัน ปรับ Vector ของ phase ของคลื่นนิดหน่อย เมื่อเอาคลื่นของแต่ละ Tx chain มาชนกันก็จะกลายเป็น TxBF คือรวมกันเป็นคลื่น Tx chain เดียวที่มี dB สูงขึ้น (In phased หรือ Constructive interference) นั่นเอง เมื่อ dB สูงขึ้น client ก็จะสามารถรับด้วย data rate ที่สูงขึ้นได้ แต่ก็จะมีข้อมูลนั้นแค่ชุดเดียวถูกส่งออกไปในอากาศ ความเร็ว-แรงนี้ จึงแลกมาด้วยความชัวร์ที่ด้อยกว่าแบบ STBC

แล้ว Rx เยอะ ๆ มีไว้ทำไม

แต่ละ Rx chain ต่างคนต่างก็รับข้อมูลเข้ามาครับ และ AP ก็จะเอาข้อมูลที่ได้จากแต่ละ Rx chain มาประกอบกัน (Combine) เรียกว่า Maximal Ratio Combining เป็นหลักการ MIMO ทั่วไป

แต่เดิมก่อนจะมี MIMO เราใช้ Rx ชุดเดียวรับข้อมูล (ตั้งแต่สมัย 11g นู่น) หากรับพลาดก็พลาดเลย เป็นหลักการแบบ Diversity antenna

ต่อเรา เราใช้ Rx หลายชุด (MI หรือ Multiple Input) รับข้อมูล บาง Rx chain อาจจะรับข้อมูลแล้วพลาดข้อมูลส่วนหัว บาง Rx chain อาจจะรับข้อมูลแล้วไปพลาดข้อมูลส่วนหาง ถ้าเอาข้อมูลจาก 2 Rx chain นี้มาประกอบกัน (Combine) แกะหัว แปะหาง ในที่สุดก็จะได้ข้อมูลที่สมบูรณ์มาใช้งาน ทำให้การรับข้อมูลเก่งขึ้น มีโอกาสสำเร็จมากขึ้น

Rx เลขยิ่งเยอะ ก็ยิ่งดี คือเพิ่มโอกาสในการรับข้อมูล

ในทางปฏิบัติ MRC ก็ทำงานได้ไม่สมบูรณ์ เพราะ Mobile Client มีการบิดแกนของเสา (Polarity) ไปมา ตือบางทีก็ตั้งหน้าจอขึ้น บางทีก็ใช้หน้าจอเป็นแนวนอน สัญญาณที่ส่งออกมาจาก Client จึงมาได้ทั้งแกนตั้งและแกนนอน (Vertical polarization และ Horizontal polarization)

หากเป็น AP อื่น ถ้าเสาของเขาเป็นแกนตั้ง สัญญาณเข้ามาเป็นแกนนอน ต่อให้มีกี่ Rx ก็รับสัญญาณได้ไม่ดี หรือรับได้ก็ได้ dB ที่ต่ำกว่า เมื่อ dB ต่ำก็จะหมายถึง data rate (Mbps) ขารับที่ต่ำตามลงไปด้วย นั่นก็เพราะแกนเสากับแกนสัญญาณไม่ตรงกัน

แต่สำหรับ Ruckus AP ที่มีเสา 2 แกน ไม่ว่าสัญญาณจะเข้ามาแกนตั้งหรือแกนนอน เราก็มีเสารอรับเอาไว้ได้ทั้ง 2 แกน ขารับของ Ruckus จึงมักจะรับสัญญาณได้ดีกว่า AP อื่น ๆ ถึง 4dB ซึ่งอาจจะหมายถึง data rate (Mbps) ที่แตกต่างกันถึงเท่าตัว !!!

ดังนั้น AP อื่น ๆ ในตลาดจะมี Rx ที่ทำได้แค่ MRC (Maximal Ratio Combining) แต่ของ Ruckus AP จะเหนือกว่าด้วย PD-MRC (Polarization Diversity – MRC) เป็นลิขสิทธิ์เฉพาะของ Ruckus เท่านั้น

Tx คูณ Rx : SS ไม่มากเกินกว่าจะจดจำ ไม่ลำบากเกินกว่าจะทำความเข้าใจ

SHARE TO:

Share on facebook
Facebook
Share on twitter
Twitter
Share on linkedin
LinkedIn
Share on email
Email