Skip to content

WiFi จะเสถียร ดี เร็ว อยู่ที่ Channel capacity

คำถามที่ 1 : AP ตัวที่ผมมี user ล้น 100 คน ตลอด จะมีแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างไรดีครับ ผมปรับ Max Client เป็น 150 หรือ 200 ได้หรือไม่ครับ? แล้วประสิทธิภาพจะลดลงเยอะไหมครับ ??

ตอบ : การปรับ Max Client ให้ทำ 2 ที่นะครับคือ
       – Advance setting ของ WLAN นั้น ๆ
       – Configure -> Access Point และดูที่ setting ของ AP Group ครับ

หลายครั้งที่เรามักจะเข้าใจว่า จำนวน Client ขึ้นอยู่กับความสามารถหรือข้อจำกัดของ AP แต่ในความเป็นจริง ความสามารถของ Enterprise AP เช่น Ruckus มี Processor และ Memory เกินกว่าความสามารถของ Radio frequency เสมอ คำถามที่ถูกต้องคือ หากเพิ่ม Client เป็น 150 หรือ 200 แล้ว ความถี่ในอากาศจะมีเวลาพอในการรับส่งข้อมูลของ Client ทั้งหมดได้หรือไม่

เพราะการใช้ความถี่ ใช้ทีละเครื่องครับ คือ AP ใช้ที แล้ว Client ก็ใช้ที ผลัดกันไปคนละเวลา

WiFi packet จะอยู่ในอากาศประมาณ 20-50 micro-second ดังนั้น ใน 1 วินาที เราสามารถจะใส่ packet เข้าไปได้ไม่มากกว่า 50,000+ packet ในจำนวน 50,000 นี้ แบ่งกันใช้ทุก client ของทุก AP ของทุก network ที่ใช้ความถี่เดียวกัน แม้ว่าจะมี AP ของคนอื่นที่ติดตั้งในบริเวณเดียวกันนั้น เช่น มือถือที่ทำตัวเป็น AP หากอยู่ในความถี่เดียวกัน ก็จะแบ่งเอา 50,000 นี้ไปใช้ด้วย

การ แบ่งเวลาไปใช้งาน เป็นคนละประเด็นของการรบกวนทางความถี่ การแบ่งเวลาไม่ถือว่าเป็นการรบกวน แต่เป็นสภาพแวดล้อมของการใช้ความถี่ด้วยจำนวนเครื่องที่หนาแน่น หรือเรียกว่า High density environment

และในสภาพแวดล้อมเอง ก็มีสัญญาณอื่น ๆ ในย่านความถี่ของ WiFi ปะปนอยู่ด้วย สัญญาณเหล่านี้คือสัญญาณรบกวนที่จะรบกวน WiFi packet ได้ก็ต่อเมื่อ “สัญญาณรบกวนและ WiFi packet มีการใช้ความถี่พร้อมกันเท่านั้น” เมื่อมีการรบกวนเกิดขึ้น ก็มักจะทำให้ WiFi packet เสียหาย ต้องส่ง Packet ใหม่ ก็จะทำให้เสียเวลาของความถี่มากขึ้นไปอีก จำนวน Packet ต่อ 1 วินาทีก็จะน้อยกว่า 50,000+ packet ลงไปอีก

การรองรับจำนวน Client ได้มาก จึงเป็นเรื่องของการบริหารความถี่ คือ บริหารเวลาของความถี่ให้ใช้ได้คุ้มค่ามากที่สุด และบริหารพื้นที่ครอบคลุม ให้จำนวน Client ต่อ 1 พื้นที่ครอบคลุมของความถี่นั้น มีจำนวนพอเหมาะ ไม่มากไม่น้อยเกินไป

บริหารเวลา

       – เมื่อมีการส่ง WiFi packet ออกไปในอากาศ หาก Client ไม่ได้รับ ผู้ส่งจะไม่ได้รับ Acknowledgement จาก client ผู้ส่งก็จะต้องรอจนกว่าจะ Timeout แล้วก็ค่อยส่ง packet นั้นใหม่ ยิ่งพลาดมาก ก็ยิ่งเสียเวลาในความถี่ซ้ำไปซ้ำมามาก เวลานั่งรอ Timeout ก็ยิ่งมาก ทำอย่างไรให้พลาดน้อย ก็ต้องเพิ่ม SNR

เพิ่ม SNR หมายความว่า Signal ของเรามีระดับสัญญาณสูงกว่า Noise signal เมื่อปลายทางได้รับสัญญาณของเราที่ดังกว่า Noise ก็จะสามารถ Demodulate data ออกมาจากความถี่ได้สำเร็จ

การเพิ่ม SNR มักจะถูกคิดไปเฉพาะการเพิ่มเสาหรือกำลังส่ง แต่การเพิ่มเสาหรือเพิ่มกำลังส่ง จะเป็นการเพิ่มพื้นที่ครอบคลุม ยิ่งเพิ่มพื้นที่ครอบคลุม ก็จะทำให้ Channel นั้นมีโอกาสรับ Client มากขึ้น ก็ยิ่งทำให้สภาพแวดล้อมของ High density สาหัสขึ้นไปอีก

จึงจะต้องเพิ่ม SNR แต่ไม่เพิ่มพื้นที่ครอบคลุม วิธีคือทำให้ Client ใกล้ AP มากขึ้น แนวโน้มของการทำระบบ Wifi จึงเป็นการใช้ AP ตัวเล็กลง แต่จำนวน AP ในระบบมากขึ้น เพื่อครอบคลุมพื้นที่เท่าเดิม เพื่อรองรับจำนวน Client ต่อพื้นที่ที่มากขึ้นนั่นเอง ในอดีตจำนวน Client มาจากหลายคนแต่มีแค่ 1 เครื่อง มาเป็นปัจจุบันที่ 1 คนถือกันคนละ 1 เครื่อง และจะกลายเป็น 1 คนหลายเครื่องในอนาคต แปลว่าความหนาแน่นของ Wifi network ก็จะเพิ่มมากขึ้น การเพิ่ม SNR ก็ยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น

       – ลดเวลาด้วยการทำให้แต่ละ packet นำพาจำนวนบิตได้มากขึ้น หรือเป็นการเพิ่ม PHY rate นั่นเอง การเพิ่ม PHY rate ก็มักจะหมายถึงการใช้มาตรฐานใหม่ ๆ ที่ให้ PHY rate หรือ Mbps ที่สูงขึ้น เช่น 11ac ทั้งนี้ เงื่อนไขที่จะทำให้เทคโนโลยีอย่าง 11ac ทำงานที่ PHY rate สูง ๆ ได้ ก็มักจะต้องพึ่งพา SNR ที่สูง เช่น Modulation 256QAM ของ 11ac ก็ต้องการ SNR ที่สูง เงื่อนไขเหมือนข้อแรก คือ ทำ SNR ให้สูงอย่างเหมาะสม โดยไม่เพิ่มความหนาแน่น คำตอบเดิมคือ การเพิ่มจำนวน AP เข้าไปในระบบ

บริหารพื้นที่ครอบคลุม

ต้องไม่หลุดประเด็นว่า เป็นการประเมินพื้นที่ครอบคลุมของความถี่ ไม่ใช่พื้นที่ครอบคลุมของ AP ดังนั้น ช่องสัญญาณหนึ่งบน AP 1 ตัวจะครอบคลุมพื้นที่กว้างไกลเท่าไหร่ ก็จะต้องดูว่า พื้นที่นั้นควรจะมี Client ไม่เกินกว่า 200 เครื่อง เมื่อได้พื้นที่แล้วก็หาจุดติดตั้ง AP ที่เหมาะสมซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นตรงกลางของพื้นที่

พื้นที่ ครอบคลุมของแต่ละ Channel บนแต่ละ AP จึงไม่ควรใหญ่เกินไป ไม่ใหญ่จนกระทั่งจำนวน Client มีมาก ก็ขึ้นอยู่กับพื้นที่ใช้งานประเภทนั้น ๆ เช่น การใช้ในห้องเรียนและโรงอาหาร ก็ใช้งานแตกต่างกัน เปิดปิดเครื่องแตกต่างกัน การ Upload/Download ก็แตกต่างกัน

บางครั้งเราพยายามจะแขวน AP บนเพดานสูงในห้องประชุมใหญ่ หากทำแบบนั้น พื้นที่ครอบคลุมของ AP ตัวนี้จะรองรับผู้ใช้ 800 คนทั้งห้องประชุมทันที เพราะทุก ๆ คนสามารถมองเห็น AP ตัวนี้แบบ Line-of-Sight ซึ่งเราอาจจะพิจารณาติดตั้ง AP ตัวเล็กรอบห้องประชุม AP (แทนจะเป็นตัวใหญ่ตรงกลาง) แต่ละตัวก็จะรองรับ Client ที่ไกลจากตัวไม่เกิน 25-30 เมตรก่อนที่ Client จะไปเจอกับ AP ตัวถัดไปและ Roaming ไปยัง AP ตัวที่ดีกว่า เป็นต้น

จากปัจจัย 2 ข้อข้างต้น ก็จะทำให้ประเมินได้ดียิ่งขึ้นว่า พื้นที่และจำนวน AP เท่าไหร่ จึงจะเหมาะสม

นอกจากนี้ การรองรับ Client เป็นจำนวนมาก ยังหมายถึงการเพิ่ม Band จาก Single band (2.4GHz) เป็น Dual band (2.4/5GHz) ก็เท่ากับเป็นการเพิ่ม Capacity อีก 1 เท่าตัว และยังรวมถึงความพยายามในการใช้ 11n หรือ 11ac ในลักษณะ Spatial streaming หลาย ๆ stream พร้อมกัน ก็ยิ่งทำให้การใช้ความถี่ใน 1 ช่วงเวลานั้น รับส่งจำนวน bit ได้มากขึ้นไปอีก สรุปคือ พยายามใช้ AP รุ่นใหม่ ๆ และไม่ยึดติดกับ AP รุ่นเดิม ๆ เช่น 11g หรือ 11n single band ก็จะช่วยให้ Wifi capacity เพิ่มขึ้นได้ ในทางกลับกัน ความพยายามที่จะใช้ AP รุ่นเก่า ๆ มารองรับ Client จำนวนมาก ก็มักจะพบกับความล้มเหลวอย่างตรงไปตรงมา

คำถามที่ 2 : ผลจากการทำ Dynamic PSK มี 2 SSID ทำให้ผู้ใช้รู้สึกว่ามันช้าลงกว่าตอนมี SSID เดียว มีวิธีแก้ปัญหาหรือไม่ครับ ???

ตอบ : การ มี 2 SSID เท่ากับการเพิ่มจำนวน Beacon packet ในอากาศให้มากขึ้น ไม่ได้เป็นข้อด้อย แต่การเปลืองเวลาในความถี่ ก็จะต้องเป็นการใช้ SSID นั้นเพื่อตอบจุดประสงค์ครับ เช่น เพื่อการแยก VLAN ระหว่าง User group ที่แตกต่างกัน แบบนี้ก็ถือว่าคุ้มค่าและเหมาะสมที่จะมี 2 SSID ครับ

ปกติ แล้ว Beacon packet สำหรับแต่ละ SSID คือ 10 beacon ต่อวินาที (Time interval = 100mS) การมี SSID เพียงแค่ 2 จะไม่ทำให้ผู้ใช้รู้สึกถึงช้าหรือเร็วครับ

แต่ผลของการมี SSID เพิ่มขึ้นมา ก็ทำให้เกิด Wifi Management Packet เพิ่มขึ้นมาด้วย เช่น
       – มี Probe request และ Probe response เพิ่มขึ้น
       – มี Association / De-association / Re-assocation เพิ่มขึ้น

ดังนั้น การมี SSID เพิ่มขึ้นมาเป็น 2 SSID นั้น ในระบบปกติ User จะไม่สามารถสังเกตเห็นความช้า/เร็วที่เปลี่ยนแปลงไปได้ แต่สำหรับระบบที่อยู่ในสภาพ High density มีโอกาสเป็นไปได้ที่ SSID ที่เพิ่มขึ้นจะมีผลต่อ User ซึ่งการ Monitor ตัวแปร (parameter) ต่าง ๆ ของ AP ตัวนั้น ๆ ผ่านทาง ZoneDirector สามารถให้คำตอบที่ชัดเจนได้ครับ

คำถามที่ 3 : เนื่องจากผมใช้ Firewall เป็นตัว DHCP จึงทำ Subnet ไว้แจกเลขได้แค่ ประมาณ 500 เครื่อง (ใช้ Class C )
แต่เลขเหล่านั้นไม่พอแจกผู้ใช้แล้วครับ ผมจึงอยากจะขยายไปใช้ Class B ซึ่งรองรับได้หลัก 1000 up
แน่นอนว่า Broadcast จะต้องมีเยอะมาก ที่ปรึกษาด้าน Firewall เป็นห่วงเรื่องการ Broadcast ในกลุ่มผู้ใช้มาก ๆ จึงแนะนำให้ทำ VLAN ซึ่งแบ่งเป็น ย่อย ๆ (ผมว่าลำบากครับ) จึงอยากปรึกษาว่า ถ้าผมเปิดแจกเลขไอพีจำนวนมาก จะมีผลจากการ Broadcast มากหรือน้อยเพียงใด ?

แล้ว ฟังก์ชัน Isolate ที่ป้องกันการ Broadcast ของ Ruckus มี หรือไม่ครับ ป้องกันได้มากน้อยเพียงใด
อยากสอบถามมาว่า Ruckus มีระบบ Isolate ที่ป้องกันการ Broadcast หรือไม่ ตั้งค่ายังไง
และใช้แล้วจะมีประสิทธิภาพในการจัดการ Broadcast หรือไม่

หรือปัญหาแบบนี้ ทาง Optimus จะแนะนำผมอย่างไรในการแก้ปัญหา IP ไม่พอครับ ??? ขอบคุณมากครับ

ตอบ : เป็นประเด็นที่คิดไปคนละทิศคนละทาง ในทาง Radio และในทาง Network

ถ้า คิดในทาง Network สมมติว่าเรามี 2 VLAN แต่ละ VLAN อยู่กันคนละ SSID ดังนั้น เรามี 2 Broadcast domain บน Network ซึ่ง Broadcast packet ของ VLAN หนึ่งจะไม่ไปรบกวนในอีก VLAN หนึ่ง

แต่คิดในทาง Radio ทั้ง 2 SSID นั้นก็อยู่บน AP ตัวเดียวกันบน Radio band เดียวกัน หมายความว่า เมื่อ VLAN-A ส่ง Broadcast ออกมาใช้ Radio แล้ว VLAN-B ก็จะส่ง Broadcast ออกมาบน Radio เดียวกันนั้นไม่ได้ เพราะ Radio band ถูกใช้งานอยู่ แตกต่างจาก VLAN บน Network ที่ทั้ง 2 VLAN สามารถจะส่ง Broadcast packet พร้อมกันได้

ดังนั้น การแยก Broadcast domain บน Network จึงไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ของการใช้ Radio ดีขึ้นเท่าไหร่นัก เพราะ Broadcast packet ของทุก ๆ VLAN ยังคงมาพบกันบนอากาศอยู่ดี

การลด Broadcast บน Radio domain จึงจะมุ่งประเด็นไปที่ Client isolation มากกว่า ซึ่งเป็นการลด Broadcast packet ที่ตัว Client ไม่ให้เข้าสู่ระบบ ไม่ว่า Client นั้นจะอยู่ VLAN ใด

ใน ZoneDirector จะมี “Isolate wireless client traffic from all hosts on the same VLAN/subnet”

ความหมายตามคู่มือ เขียนว่า

โดย สรุปคือ Client จะสามารถติดต่อรับส่ง ARP ที่เกี่ยวข้องกับหมายเลข IP และ MAC address ของ Gateway เท่านั้น ที่เหลือจะถูก Drop ที่ AP ทั้งหมด และไม่มีโอกาสเลยที่ ARP นั้นจะถูกส่งออกไปในอากาศ (เว้นแต่ในกรณีของ Mesh)

เมื่อเราสกัด ARP จาก Wifi client ได้ Wifi client แต่จะเครื่องจะมองไม่เห็นกันโดยสิ้นเชิง กิจกรรมต่าง ๆ ที่ก่อให้เกิด Broadcast packet ถูกลดจำนวนลงไปเป็นอย่างมาก ก็จะทำให้ Broadcast packet น้อยลง ผลก็คือ VLAN จะรองรับจำนวน Client ได้มากขึ้น เพราะความกังวลเรื่อง Broadcast flooding หมดไปแล้ว ความจำเป็นในการแยก VLAN ก็น้อยลง ก็จะสามารถเพิ่มจำนวน Host ใน Subnet โดยใช้ Subnet ที่ใหญ่ขึ้นได้

อีกฟีเจอร์หนึ่งที่จะช่วยให้แต่ละ VLAN สามารถรองรับจำนวน Client มาก ๆ ได้ คือ Rate limit ผมแนะนำให้ตั้ง Rate limit เอาไว้สำหรับแต่ละ Client ใน WLAN ไม่มากกว่า 20 Mbps ซึ่งไม่ใช่ Internet rate limit แต่เป็น Network access rate limit หมายความว่า เราจะสร้างข้อจำกัดเพื่อลดความสามารถในการโจมตีระบบของ Client เอาไว้ที่ไม่เกินกว่า 20Mbps (ทุกวันนี้ Client 11ac สามารถโจมตีระบบด้วย Throughput สูงถึง 400-500Mbps) ส่วน Internet bandwidth limit นั้นปล่อยให้เป็นหน้าที่ของ Firewall/Router ไปครับ

Rate limit setting ดูที่ Advance setting ของ WLAN ครับ

สินค้าที่เกี่ยวข้อง

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ ติดต่อแผนก Marketing

โทร : 02-2479898 ต่อ 87 

Email : [email protected]

SHARE TO:

Share on facebook
Facebook
Share on twitter
Twitter
Share on linkedin
LinkedIn
Share on email
Email